วันพฤหัสบดีที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2552
สุริโยไท
เรื่องย่อภาพยนตร์เรื่องสุริโยไท ได้พลิกฟื้นประวัติศาสตร์อยุธยาช่วงต้น โดยลำดับเหตุการณ์แต่ครั้ง รัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 ( พ.ศ. 2034 - พ.ศ. 2072 ) ก่อนมายุติลงตรงมหายุทธสงครามศึก ตะเบงชเวตี้ ( พ.ศ.2091 ) ครอบคลุมระยะเวลารวมแล้ว 57 ปี โดยประมาณ เหตุการณ์ในรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 นั้นเป็นช่วงสมัยที่ราชอาณาจักรอโยธยา มีเจ้าเหนือหัวครองราชย์ถึง 2 พระองค์ หนึ่งนั้นคือสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 ซึ่งทรงครองราชย์อยู่ยังราชธานีฝ่ายใต้ อันได้แก่กรุงอโยธยาศรีรามเทพนคร ส่วนอีกหนึ่งนั้นเป็นพระอนุชาในสมเด็จพระรามาธิบดีทรงพระนามว่าพระอาทิตยา ครองราชย์อยู่ยังเมืองพระพิษณุโลกอันเป็นราชธานีฝ่ายเหนือ พระมหากษัตริย์ทั้งสองพระองค์ทรงสืบสายสันตติวงศ์มาแต่วงศ์สุพรรณภูมิ
ราชอาณาจักรอโยธยาครั้งนั้น หยัดยืนอยู่ได้ก็ด้วยอาศัยกำลังของเจ้าราชนิกุลที่สืบสายมาจากราชวงศ์สำคัญ 4 ราชวงศ์ด้วยกัน อันได้แก่ ราชวงศ์สุพรรณภูมิ ราชวงศ์อู่ทอง ราชวงศ์พระร่วงแห่งราชอาณาจักรสุโขทัยเดิม และราชวงศ์ศรีธรรมาโศกราช ที่เคยเป็นใหญ่ในอาณาจักรแดนใต้แห่งคาบสมุทรไทย ถึงแม้ในรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 เจ้านายในราชวงศ์สุพรรณภูมิจะทรงครองความเป็นใหญ่ในแผ่นดินอโยธยาทั้งเหนือใต้ แต่ความมั่นคงทางอำนาจนั้นยังจำต้องพึ่งพิง กำลังสนับสนุนของเหล่าราชนิกุลที่เหลือ ครั้งนั้นแผ่นดินอโยธยาฝ่ายเหนือ อันมีเมืองพระพิษณุโลกเป็นราชธานีปรากฎเจ้านายในราชวงศ์พระร่วงที่สำคัญอย่างน้อยสองพระองค์ หนึ่งคือพระสุริโยไทผู้เป็นพระธิดาของออกญาศรีสุรินทร์ อีกผู้หนึ่งคือขุนพิเรนทรเทพเป็นพระญาติพระสุริโยไท มีศักดิ์เป็นพระเชษฐาแต่มิได้ร่วมสายโลหิตเดียวกัน เจ้านายสายวงศ์พระร่วงทั้งสองเจริญวัยมาด้วยกัน ครั้นขึ้นวัยแรกรุ่นเป็นหนุ่มสาวต่างก็มีใจปฏิพัทธ์แก่กันฉันท์คนรัก กระนั้นก็ดีพระสุริโยไทหาได้ออกเรือนไปกับขุนพิเรนทรเทพไม่ เพราะพระนางจำต้องอภิเษกสมรสกับพระเฑียรราชา ผู้รั้งตำแหน่งพระเยาวราชแห่งราชวงศ์สุพรรณภูมิ พระเฑียรราชาผู้นี้เป็นโอรสในสมเด็จพระอาทิตยาผู้ครองเมืองพระพิษณุโลกอยู่ขณะนั้น
การอภิเษกสมรสระหว่างพระสุริโยไทกับพระเฑียรราชาโดยนัยหนึ่งเป็นการกระชับไมตรีทางการเมือง ระหว่างราชนิกุลข้างสุพรรณภูมิ และข้างพระร่วงให้ยั่งยืนมั่นคงขึ้น เหตุการณ์บ้านเมืองเริ่มผันแปรเสื่อมถอย เมื่อสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 เสด็จสวรรคตในปี พ.ศ.2072 อันเป็นปีเดียวกันกับที่ดาวหางฮัลเลย์ปรากฎขึ้น การสวรรคตครั้งนั้นเป็นเหตุแห่งการผลัดเปลี่ยนแผ่นดินทั้งฝ่ายใต้และฝ่ายเหนือ กล่าวคือพระอาทิตยาทรงเสด็จจากเมืองพระพิษณุโลกลงมาครองกรุงอโยธยา เถลิงพระนามว่าสมเด็จพระบรมราชาหน่อพุทธางกูร ส่วนราชธานีฝ่ายเหนือที่ว่างลงนั้นทรงโปรดให้พระชัยราชา ผู้เป็นราชโอรสในสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 ขึ้นไปครองแทน ครั้งนั้นพระเฑียรราชาผู้ราชโอรสพระอาทิตยา หรือสมเด็จหน่อพุทธางกูร จำต้องนำพระสุริโยไทโดยเสด็จพระราชบิดาลงมาประทับยังวังชัยในกรุงศรีอยุธยา พระเฑียรราชายังคงรั้งตำแหน่งพระเยาวราชดังเดิม
การสืบมาได้ปรากฎไข้ทรพิษระบาดหนัก เป็นเหตุให้สมเด็จหน่อพุทธางกูรเสร็จสวรรคตเพราะภัยร้ายนั้น บ้านเมืองจึงเกิดเป็นทุรยศ ด้วยพระรัฎฐาธิราชกุมารพระราชโอรสในสมเด็จหน่อพุทธางกูรผู้สืบราชสมบัติต่อมานั้นมีพระชนมายุเพียง 5 พรรษา เป็นเหตุให้กิจการงานเมืองต้องตกอยู่ภายใต้เงื้อมมือของเจ้าพระยายมราชผู้มีศักดิ์เป็นบิดาพระอัครชายาผู้ให้กำเนิดพระรัฎฐาธิราช เจ้าพระยายมราชเป็นคนคดฉ้อราษฎร์บังหลวง จนไพร่บ้านพลเมืองเดือดร้อนกันไปทั่ว ขณะที่แผ่นดินอยุธยาลุกเป็นไฟนั้น แผ่นดินพุกามประเทศฝ่ายพม่าได้ปรากฎกษัตริย์หนุ่มผู้เข้มแข็งนามว่า ตะเบงชเวตี้ กษัตริย์พม่าพระองค์นี้ได้รวบรวมบ้านเล็กเมืองน้อยขึ้นเป็นปึกแผ่นได้สำเร็จ พระชัยราชาผู้ครองราชธานีฝ่ายเหนือเห็นมิเป็นการ จึงนำกำลังแต่เมืองเหนือลงมาปราบยุคเข็ญในพระนครหลวง และปราบดาภิเษกสถาปนาพระองค์เอง ขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์องค์ใหม่แทนที่พระรัฎฐาธิราช ซึ่งถูกสำเร็จโทษไปด้วย เพราะพระชัยราชามิทรงประสงค์จะละไว้ให้เป็นเสี้ยนหนาม ถึงแม้ราชอาณาจักรอยุธยาจะมีอันผลัดเปลี่ยนแผ่นดินติดต่อกันมาถึง 4 รัชกาล แต่อำนาจนั้นก็ยังคงตกอยู่กับเจ้านายในราชวงศ์สุพรรณภูมิดังเดิม
สมเด็จพระชัยราชาธิราชเจ้าทรงเป็นกษัตริย์นักรบ ในรัชกาลของพระองค์ได้ทรงทำศึกมีชัยเหนือพม่าที่เมืองเชียงกราน อันเป็นเมืองในขอบขัณฑสีมาอโยธยาด้านฝั่งตะวันตก พระองค์ยังทรงนำทัพขึ้นไปรบถึงเมืองเชียงใหม่ ขณะเมื่อพระองค์ทรงออกรบไปในแดนต่างๆ นั้น จะทรงสถาปนาพระเฑียรราชาขึ้นที่อุปราชดูแลราชการแผ่นดินอโยธยาต่างพระเนตรพระกรรณเสมอมา ต่อมาพระชัยราชาธิราชทรงได้เจ้านายข้างวงศ์
อู่ทองมาเป็นพระสนมเอก มีพระนามปรากฎในพระราชพงศาวดารว่า ท้าวศรีสุดาจันทร์ ท้าวศรีสุดาจันทร์ผู้นี้ ไม่เพียงถือโอกาสในคราวที่พระสวามีติดศึกต่างแดน ลอบมีสัมพันธ์สวาทกับพันบุตรศรีเทพ ผู้เป็นบุตรเจ้าเมืองศรีเทพซึ่งเป็นเจ้านายสายอู่ทอง พระนางยังคบคิดกับชู้รักซึ่งภายหลังได้รับอวยยศขึ้นเป็นขุนชินราช ลอบวางยาพิษพระชัยราชาธิราช ด้วยมุ่งหวังจะชิงบัลลังก์อโยธยาคืนมาจากเจ้านายสายสุพรรณภูมิ ท้าวศรีสุดาจันทร์และขุนชินราชยังลอบวางยาพิษพระยอดฟ้า พระราชโอรสในพระชัยราชาธิราช ภายหลังจากที่พระองค์เสวยราชสมบัติ สืบต่อจากพระราชบิดาได้ไม่ทันนาน (ไม่เกิน2 ขวบปี , พ.ศ.2089-พ.ศ.2091) ท้ายที่สุดท้าวศรีสุดาจันทร์ได้สถาปนาขุนชินราช ขึ้นเป็นกษัตริย์อโยธยา เถลิงพระนามว่าขุนวรวงศาธิราช นับเป็นกษัตริย์พระองค์แรกและพระองค์เดียวแห่งสายราชนิกุลอู่ทอง ที่ได้กลับขึ้นมาเป็นใหญ่อีกครั้ง หลังจากที่ได้สูญเสียอำนาจให้กับเจ้านายฝ่ายสุพรรณภูมิไปเนิ่นนานปี
ในช่วงการผลัดเปลี่ยนอำนาจนับแต่พระชัยราชาธิราชถูกลอบปลงพระชนม์ พระเฑียรราชาผู้รั้งตำแหน่งอุปราชและผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน จำต้องหลบลี้ราชภัยด้วยการออกบวช ข้างพระสุริโยไทนั้นไม่เพียงต้องคอยระแวดระวังภัยให้พระสวามี พระราชโอรสและพระราชธิดา ซึ่งต่างยังทรงประทับอยู่ในวังชัย แต่ยังทรงพยายามคิดการโค่นล้มอำนาจขุนวรวงศาและแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์ เป็นการลับเพื่อพลิกฟื้นบ้านเมืองให้กลับคืนเป็นปกติสุขตามเดิม พระนางได้ลอบติดต่อขุนพิเรนทรเทพ ซึ่งพระนางเคยมีสัมพันธ์ใกล้ชิดมาแต่วัยเยาว์ จนท้ายที่สุดสามารถเหนี่ยวรั้งให้ขุนพิเรนทรเทพรวมกำลังพลฝ่ายเหนือ สมทบกับขุนอินทรเทพ หมื่นราชเสน่หานอกราชการ และหลวงศรียศ โค่นอำนาจขุนวรวงศาลงได้สำเร็จ คณะผู้ก่อการได้ร่วมกันสถาปนาพระเฑียรราชาขึ้นเป็นกษัตริย์อโยธยา เถลิงพระนามสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ เป็นเหตุให้อำนาจหวนกลับมาตกอยู่ในมือเจ้านายราชวงศ์สุพรรณภูมิอีกครั้งหนึ่ง ข่าวการแย่งชิงอำนาจกันภายในราชอาณาจักรอโยธยา ล่วงรู้ไปถึงหูพระเจ้าตะเบงชเวตี้ ซึ่งขณะนั้นได้ทรงรวบรวมแผ่นดินพุกามขึ้นเป็นปึกแผ่นมั่นคงแล้ว และได้ย้ายราชธานีจากเมืองตองอูลงมาประทับยังกรุงหงสาวดีซึ่งเป็นราชธานีเดิมของกษัตริย์มอญ พระเจ้าตะเบงชเวตี้เห็นได้จังหวะเหมาะจึงรวบรวมไพล่พลเมืองตองอู เมืองแปร เมืองหงสาวดีและหัวเมืองมอญน้อยใหญ่ ผสมทหารโปรตุเกสผู้ชำนาญการใช้ปืนไฟ จัดเป็นกองทัพใหญ่ยกเข้ามาทางด่านพระเจดีย์สามองค์ จนสามารถนำกำลังเข้าล้อมกรุงศรีอยุธยาไว้ได้สำเร็จ
ศึกพม่ารามัญครั้งนั้นใหญ่หลวงนัก สมเด็จพระมหาจักพรรดิทรงนำกำลังออกปะทะพม่า จนรบกันเป็นโกลาหลในทุ่งมะขามหย่อง กษัตริย์อโยธยาทรงกระทำคชยุทธด้วยตะโดธรรมราชาเจ้าเมืองแปร ครั้งนั้นช้างพระที่นั่งเสียหลักหันหลังหนีช้างข้าศึก พระสุริโยไททรงมีพระกตัญญูภาพ ขับพระคชาธารพลายทรงตะวันเข้าขวางช้างพระเจ้าแปร และทรงต่อรบป้องกันพระสวามีจนสิ้นพระชนม์ ภาพยนตร์ได้มายุติลงตรงเหตุการณ์ครั้งสำคัญครั้งนั้นในประวัติศาสตร์
ภาพยนตร์สุริโยไทไม่เพียงมุ่งชี้ชัดถึงพิบัติภัยอันเกิดแต่การแตกสามัคคีในหมู่คนไทย แต่ยังได้เปิดมิติประวัติศาสตร์ให้เห็นถึงบทบาทของสตรีสูงศักดิ์ในราชสำนัก ซึ่งล้วนมีบทบาทสำคัญไม่แพ้ชายในการขับเคลื่อนกงล้อประวัติศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นการผลักดันให้เกิดเหตุพลิกผันผลัดแผ่นดิน ไปจนถึงการพลีชีพกลางสมรภูมิศึกเพื่อรักษาไว้ซึ่งเอกราชของราชอาณาจักร
ที่มา ; http://www.geocities.com/schwalit/suritotai.htm
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น