วันพุธที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2552

บุญบั้งไฟ

บุญบั้งไฟ...ประเพณีขอฝนชาวอีสานในเดือนหก
เมื่อย่างเข้าสู่เดือนหกหรือเดือนพฤษภาคมในแต่ละปี ชาวไทยจะมีประเพณีสำคัญหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นงานบุญวันวิสาขบูชา พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เป็นต้น ซึ่งหนึ่งในประเพณีที่ขาดไม่ได้ คือ งานบุญบั้งไฟของชาวอีสาน ที่ได้จัดขึ้นเป็นประจำทุกๆปีในเดือนแห่งการเริ่มต้นฤดูฝนนี้
ที่มาของบุญบั้งไฟนี้มีหลายความเชื่อ บ้างเล่าว่า ณ บนสวรรค์ชั้นฟ้ามีเทพบุตรนามว่า วัสสกาลเทพบุตร เป็นผู้มีหน้าที่ตกแต่งน้ำฟ้าน้ำฝน กล่าวกันว่าฝนจะตกหรือไม่ก็อยู่ที่เทพบุตรองค์นี้เป็นสำคัญ หากใครทำถูกทำชอบ ปฏิบัติดี ท่านก็จะบันดาลให้ฝนฟ้าตก ใครทำไม่ถูกไม่ชอบ ท่านก็ไม่ส่งฟ้าฝนมาให้ และสิ่งที่ วัสสกาลเทพบุตร โปรดคือการบูชาด้วยไฟ ดังนั้น มนุษย์จึงทำบั้งไฟ และจุดบั้งไฟขึ้นไปบูชาท่าน เพื่อขอให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล และได้กลายมาเป็นประเพณีทำบุญบั้งไฟสืบต่อมาจนทุกวันนี้
ส่วนอีกความเชื่อหนึ่งก็ว่า การจัดงานบุญบั้งไฟขึ้นมานั้น เป็นเสมือนการส่งข่าวหรือ บอกข่าวแก่ พระยาแถน (พระยาแถน หรือ ผีฟ้าผีแถน คือ เทพผู้ให้เกิดเป็นดิน เป็นฟ้า เป็นฝน ในความเชื่อของชาวอีสาน) ซึ่งมีหน้าที่ให้น้ำฝนแก่มนุษย์โลก เพื่อให้ทราบว่าขณะนี้เกิดความแห้งแล้งขึ้นแล้ว และมวลมนุษย์ทั้งหลายกำลังเดือดร้อนเรื่องการขาดแคลนน้ำ ดังนั้น การส่งบั้งไฟขึ้นไป จึงเป็นการสื่อสารระหว่างมนุษย์ กับ พระยาแถน หรือผีฟ้าผีแถน จากความเชื่อที่กล่าวมา นอกจากนี้ ชาวอีสานยังมีตำนานที่เกี่ยวเนื่องด้วยการแห่บั้งไฟอื่นๆอีก เช่น ตำนานเรื่องพระยาคันคาก ตำนานเรื่องท้าวผาแดงนางไอ่ เป็นต้น
วิธีทำบั้งไฟ เขาจะทำโดยการนำเอาดินประสิว หรือ ภาษาอีสาน เรียกว่า ขี้เจีย มาคั่วผสมกับถ่านตำให้แหลก เรียกว่า หมื่อ เมื่อได้หมื่อแล้ว ก็เอาหมื่อใส่กระบอกไม้ไผ่ตำให้แน่นแล้วเจาะรู โดยอาจะทำเป็นบั้งไฟหมื่นบั้งไฟแสน (บั้งไฟที่มีน้ำหนักดินปืน ๑๒ และ ๑๒๐ กิโลกรัมตามลำดับ) ซึ่งว่ากันว่าทั้งสองอันเป็นแบบฉบับของจรวด หรือไม่ก็อาจทำในรูปบั้งไฟพลุ (คือ บั้งไฟที่จุดเพื่อให้เกิดเสียงดัง ยิ่งดังมากเท่าไรยิ่งดี) หรือทำเป็นหมากไฟดอกไม้ ซึ่งทั้งสองอย่างหลังนี้ เขาว่าเป็นต้นตำรับของลูกระเบิดในปัจจุบันนั่นเอง บั้งไฟนี้ใครอยากจะทำแบบไหนก็สุดแท้แต่ความพอใจ เมื่อเสร็จแล้วก็ประดับตกแต่งบั้งไฟของตนให้ดูสวยสดงดงาม
ครั้นถึงวันรวมบั้งไฟ (หรือภาษาอีสานเรียกว่า วันโฮม) ชาวบ้านก็จะมารวมกันที่วัด พร้อมจัดขบวนแห่ไปรอบๆเมือง โดยในขบวนจะมีทั้งชายและหญิงร่ายรำและร้องเล่นกันไปตลอดเส้นทางที่ขบวนผ่าน ซึ่งเนื้อเพลงที่นำมาร้องนั้น บางครั้งอาจจะมีเนื้อหาสาระออกนัยเป็นสองแง่สองง่ามอยู่บ้าง แต่คนส่วนใหญ่จะไม่ถือสาด้วยคิดว่าเป็นการร้องเล่นเพื่อความสนุกสนาน
สำหรับคืนวันรวมบุญบั้งไฟนั้น บางชุมชนก็จะจัดให้มีการเส็งกลอง (การเส็งกลอง คือ การประกวดหรือตีกลองแข่งกัน) โดยแต่ละหมู่บ้านอาจจะแข่งกันเอง หรืออาจจะเชิญหมู่บ้านใกล้เคียง หรือผู้ที่สนใจมาร่วมแข่งขันด้วยก็ได้ การตัดสินแพ้ชนะขึ้นอยู่กับเสียงกลองว่าใครดังกว่าผู้อื่น ก็เป็นฝ่ายชนะ
ในรุ่งขึ้นชาวบ้านก็จะพากันไปทำบุญตักบาตร ถวายอาหารพระภิกษุสงฆ์ เมื่อถวายภัตตาหารเช้าเสร็จแล้ว เจ้าของบั้งไฟทั้งหลายก็จะนำบั้งไฟของตนออกมาแห่ไปรอบๆอีกครั้ง ชาวบ้านที่ได้เห็นก็จะพากันมารอดูการจุดบั้งไฟ หากบั้งไฟของใครพุ่งขึ้น ก็จะช่วยกันหามแห่เจ้าของไปรอบๆ ส่วนบั้งไฟของใครพุ่งลงหรือไม่ติดก็จะถูกจับโยนลงโคลนเป็นที่สนุกสนาน และเมื่องานเลิกแล้ว พวกที่เป็นเจ้าของบั้งไฟที่ขึ้นก็จะไปฟ้อนรำขอข้าวของเงินทองเรียกว่า นำฮอยไฟ
ประเพณีบุญบั้งไฟ นอกจากจะเป็นประเพณีที่สำคัญและเป็นหนึ่งในฮีตสิบสองที่ชาวอีสานถือว่าต้องปฏิบัติเพื่อให้เกิดความผาสุกและความอุดมสมบูรณ์แล้ว ยังมีส่วนช่วยให้เกิดความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวในชุมชน และยังเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงภูมิปัญญาของบรรพบุรุษในอดีตอีกด้วย
ทีมา : http://www.culture.go.th/study.php?&YY=2548&MM=5&DD=10

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น